9 ขั้นตอนการจัดงานแต่งแบบไทยให้ลงตัว เหมาะสมตามประเพณี
“ความรัก” ก่อเกิดจากคนสองคนซึ่งรู้สึกดีต่อกัน คบกันเป็นแฟน ความสัมพันธ์นับวันจะแนบแน่นขึ้นจนรู้สึกว่าอยากจะใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยกัน “การแต่งงาน” จึงเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรักและการให้คำมั่นสัญญาระหว่างกันว่า “จะมีความรักให้กันอย่างเท่าเทียมและจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป” นอกจากนี้ การจัดงานแต่งงานยังถือเป็นอีกวิธีแสดงออกถึงคำขอบคุณพ่อแม่ รวมถึง ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กจนโตอีกด้วย โดยในบทความนี้ ได้รวบรวมวิธีจัดงานแต่งแบบไทยที่ครบถ้วน และเหมาะสมตามประเพณีทั้งหมด 9 ขั้นตอน ดังนี้
1. การทำบุญตักบาตรคู่บ่าวสาว
ด้วยความเชื่อและขนบธรรมเนียมของคนไทย ในงานหรือพิธีมงคลต่างๆ มักจะนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในงานด้วยเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยการทำบุญตักบาตร ประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
นิมนต์พระสงฆ์
ในการจัดงานแต่งแบบไทย การทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาวถือเป็นขั้นตอนแรกในงานแต่งงาน โดยนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป เพราะความเชื่อที่ว่า เลข 9 เป็นเลขมงคล หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า รวมไปถึง เมื่อนับรวมกับพระประธานด้วยก็จะนับได้ 10 ซึ่งครบคู่พอดี ด้วยนัยยะที่ว่า “การอยู่ด้วยกันเป็นคู่”
ของเตรียมใส่บาตร
พิธีการช่วงเช้าคู่บ่าวสาวต้องเตรียมของสำหรับใส่บาตร ได้แก่ อาหารคาว และอาหารหวาน โดยมีเมนูมงคล พร้อมความหมาย ดังนี้
• อาหารคาว
- ขนมจีนน้ำยา: ความรักของคู่บ่าวสาวจะยืนยาวเหมือนเส้นขนมจีน
2. ถั่วงอก: สัญลักษณ์แห่งความงอกเงย งอกงาม
3. ห่อหมก: เมื่อใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้ว ทั้งคู่ก็จะ “เออออ ห่อหมก” ไปด้วยกัน ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน
4. ต้มจืด: เชื่อกันว่าการได้ซดต้มจืดร้อนๆ ทำให้คล่องคอ อาหารไหลลื่นดี เปรียบได้กับการมีชีวิตคู่ที่ราบรื่น
5. ขนมจีบ: เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้รำลึกเรื่องราวสมัยที่จีบกันใหม่ๆ ที่อบอวลไปด้วยความรัก และความเข้าใจ นอกจากนี้ การรับประทานขนมจีบ ยังถือเป็นการแก้เคล็ดสำหรับบางคู่ที่แต่งงานกันมานานแล้วอีกด้วย
6. ลาบ: พ้องเสียงกับ “ลาภ” หมายถึง การอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีโชคลาภและเงินทองเข้ามา
• อาหารหวาน
- ทองหยิบ ทองหยอด: หยิบจับอะไรก็ร่ำรวย เป็นเงินเป็นทอง
2. ฝอยทอง: ความยาวของเส้นฝอยทอง จะทำให้คู่บ่าวสาวครองรักกันยาวนาน หวานชื่นตลอดไป
3. เม็ดขนุน: จะมีผู้ค้ำจุน สนับสนุน อุปถัมภ์อยู่เสมอ ช่วยให้ชีวิตไม่ลำบาก
4. ขนมเสน่ห์จันทร์: ให้ทั้งคู่มีเสน่ห์ต่อกันและกันตลอดไป
5. ขนมทองเอก: ความเป็นที่หนึ่ง เป็นภรรยาเอกเพียงคนเดียว
6. ขนมถ้วยฟู: ชีวิตคู่มีแต่ความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
7. ขนมชั้น: การได้เลื่อนขั้น มียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นไป
2. การแห่ขันหมาก
ขั้นตอนงานแต่งขั้นตอนนี้ นับเป็นอีกหนึ่งขนบธรรมเนียมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน นัยของการแห่ขันหมาก คือ การที่เจ้าบ่าวแสดงความเคารพนับถือต่อพ่อแม่ของเจ้าสาว และเป็นการให้เกียรติเจ้าสาว ด้วยการจัดพิธีได้อย่างถูกต้อง และเข้าตามตรอกออกตามประตู ในขณะที่เจ้าสาวก็ยอมรับเจ้าบ่าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
• ตั้งขบวนขันหมาก
การตั้งขบวนขันหมาก สามารถจัดได้ตามลำดับขั้นโดยเริ่มจากตำแหน่งด้านหน้าก่อน ดังนี้
- เฒ่าแก่ (เถ้าแก่)
2. พ่อเจ้าบ่าว เจ้าบ่าว และแม่เจ้าบ่าว เดินไปพร้อมกัน
3. พานต้นกล้วย และ พานต้นอ้อย เดินคู่กัน
4. พานขันหมากเอก และพานขันหมากโท เดินคู่กัน
5. พานแหวนหมั้น
6. คู่พานสินสอด เดินเคียงกัน
7. คู่พานผลไม้มงคล เดินเคียงกัน
8. คู่พานขนมมงคล 9 ชนิด เดินเคียงกัน
• จัดเตรียมขบวนขันหมาก
ในขบวนขันหมาก จะมีการถือขันหมาก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน หลัก ๆ ได้แก่
- ขันหมากเอก: จะถูกใช้เป็นขันหมากนำขบวน ประกอบไปด้วย พานต้นกล้วย พานต้นอ้อย ในขันหมากเอกยังประกอบไปด้วยพานต่างๆ ได้แก่ พานขันหมาก พานสินสอด พานแหวนหมั้น และพานธูปเทียนแพ
2. ขันหมากโท: หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “พานขันหมากบริวาร” ประกอบไปด้วย พานอาหารคาว พานอาหารหวาน พานผลไม้มงคล และพานขนมมงคล 9 ชนิด
3. การประกอบพิธีทางสงฆ์
ขั้นตอนนี้จะถือเป็นในส่วนของพิธีการแรกในวันแต่งงาน ซึ่งในสมัยก่อนจะนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงเย็นของวันสุกดิบหรือวันเตรียมงาน ส่วนช่วงเช้าของวันงานจะมีเฉพาะพิธีตักบาตรเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน เพื่อความสะดวกต่อการจัดการและประหยัดเวลา จึงนิยมประกอบพิธีทางสงฆ์ในเช้าวันแต่งงานวันเดียว ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
• จุดธูปบูชาพระรัตนตรัย
เมื่อพระสงฆ์นั่งที่อาสนะเรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวจะทำหน้าที่จุดธูปเทียน เพื่อบูชาพระ โดยมีตำแหน่งการนั่ง คือ เจ้าบ่าวอยู่ทางฝั่งขวามือของเจ้าสาว ก่อนจะเริ่มอาราธนาศีล และรับเบญจศีล จากนั้นถวายขันและเทียน เพื่อให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์
• สวดบทมงคลสูตร
เจ้าพิธีจะสวดอาราธนาพระปริตร นัยคือ การขอให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคล ขจัดความทุกข์ และขจัดโรคภัยให้แก่คู่บ่าวสาว โดยพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ไปจนถึงบทมงคลสูตร เจ้าพิธีจะจุดชนวน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้จากการสวดบทพระปริตรนี้ถือว่าเป็น “น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับใช้ในการรดน้ำสังข์และพิธีมงคลอื่นๆ ต่อไป
• ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน
สมัยก่อนมักจะให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวตักคนละทัพพีสลับกัน แต่ในปัจจุบันนิยมให้คู่บ่าวสาวได้ใช้ทัพพีเดียวตักบาตรพร้อมกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าวันนี้ได้ “ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขันกัน” ชาติหน้าจะได้เกิดมาเป็นคู่กันอีก
• ถวายภัตตาหาร
คู่บ่าวสาวต้องถวายภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระสงฆ์ โดยเริ่มจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธ และประเคนภัตตาหารคาวและหวานแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยธูป เทียน ปัจจัย และเครื่องไทยธรรม
• กรวดน้ำ
เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา และกล่าวบทสวด “ยะถา สัพพี…” คู่บ่าวสาวจะกรวดน้ำ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เทพยดา เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
• ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พร้อมกับการประพรมน้ำมนต์แก่คู่บ่าวสาว และผู้ที่มาร่วมในงานพิธี
• เจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว
พระสงฆ์ทำการเจิมหน้าผากของคู่บ่าวสาว เป็นอันเสร็จพิธีทางสงฆ์
4. พิธีการสู่ขอและตรวจนับสินสอด
การสู่ขอในขั้นตอนการแต่งงานนี้ เพื่อให้เจ้าบ่าวได้แสดงความเคารพ ให้เกียรติ และขอบคุณพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมาเป็นอย่างดี
• การสู่ขอ
หลังจากเสร็จพิธีแห่ขบวนขันหมากแล้ว กลุ่มพานขันหมากเอกจะถูกนำมาเรียงที่ด้านหน้าพิธี และเรียนเชิญผู้ใหญ่และเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายมาบนเวที โดยเจ้าบ่าวนั่งอยู่ฝั่งขวาของเวที และพ่อของทั้งคู่บ่าวสาวนั่งด้านนอกสุดของแต่ละฝั่ง
ในการจัดงานแต่ง นิยมเชิญผู้ที่แต่งงานและอยู่กินด้วยกันมานาน รวมไปถึง มีตำแหน่งการงานที่ดี และเป็นที่เคารพจากคนทั่วไป มาเป็น “เฒ่าแก่” เพื่อที่คู่บ่าวสาวจะมีชีวิตคู่ที่ผาสุก รุ่งเรือง และอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่านั่นเอง
พิธีการสู่ขอ เฒ่าแก่และพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวกล่าวแนะนำตัว และกล่าวสู่ขอเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าว โดยนำสินสอดทั้งหมดที่ตกลงกันไว้มาหมั้น พร้อมกับเชิญแม่เจ้าสาวตรวจนับสินสอด
• ตรวจนับสินสอด
เพื่อนเจ้าสาวจะเป็นผู้ช่วยเปิดผ้าที่ห่อสินสอด และรวบรวมให้แม่เจ้าสาว โดยวางบนใบพลู ใบหมาก ใบเงิน ใบทอง และใบรัก ที่มาเรียงบนพานที่มีผ้าแดง หรือผ้าเงินผ้าทองให้สวยงาม จากนั้นแม่เจ้าสาวจะนำถั่วงา ข้าวตอก และดอกไม้มาโรยบนสินสอด พร้อมให้พร ก่อนที่แม่เจ้าสาวจะมัดห่อสินสอดทองหมั้นทั้งหมดและแบกขึ้นบ่า พร้อมกับท่าเดินที่แสดงว่าสินสอดมีน้ำหนักมาก และสุดท้ายให้เพื่อนเจ้าสาวไปเก็บในที่ที่ปลอดภัย
5. การหมั้น
การหมั้นเป็นขั้นตอนงานแต่งที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง “การหมั้น” เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าจะอยู่คู่กันตลอดไป จนถึงวันที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวพร้อมจะแต่งงานกัน มีขั้นตอน ดังนี้
- เจ้าสาวกราบที่ตักหรือระดับอกของเจ้าบ่าวหนึ่งครั้ง
2. เจ้าบ่าวรับไหว้มือพนมของเจ้าสาว
3. เจ้าบ่าวสวมแหวนให้เจ้าสาวที่นิ้วนางข้างซ้าย และเจ้าสาวกล่าวขอบคุณ
4. หากมีสินสอดอื่นๆ อาทิ สร้อยคอ กำไล หรือต่างหู เจ้าบ่าวจะเป็นผู้สวมใส่ให้เจ้าสาวทั้งหมด โดยให้ทุกคนเป็นสักขีพยาน
5. เจ้าสาวสวมแหวนหมั้นให้เจ้าบ่าวที่นิ้วนางข้างซ้ายด้วยเช่นกัน
6. การรับไหว้/การผูกข้อมือ
“การรับไหว้/ผูกข้อมือ” ถือเป็นขั้นตอนงานแต่งที่เปิดโอกาสให้คู่บ่าวสาวได้แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ โดยพิธีรับไหว้นี้มักจะจัดขึ้นก่อนพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- คู่บ่าวสาวถือพานดอกไม้ ธูป และเทียน เข้ามาไหว้ผู้ใหญ่ รวมถึง ท่านใดที่ต้องการรับไหว้ ให้มานั่งที่หน้าคู่บ่าวสาว เป็นการผลัดกันรับไหว้
2. การรับไหว้จะเรียงลำดับตามความอาวุโส ส่วนใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะให้เกียรติฝ่ายเจ้าบ่าวก่อน
3. ในกรณีผู้ใหญ่ที่มารับไหว้เป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ คู่บ่าวสาวจะกราบที่หมอน 3 ครั้ง
4. ถ้าเป็นญาติทั่วไป คู่บ่าวสาวจะกราบครั้งเดียวโดยไม่แบมือ
5. กรณีเป็นการรับไหว้จากพ่อแม่ พ่อแม่จะรับไหว้ พร้อมกับให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว
6. พ่อแม่ผูกข้อไม้ข้อมือด้วยด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เป็นการรับขวัญ
7. หลังการรับไหว้ ผู้ใหญ่จะวางซองเงินบนพาน เพื่อให้เป็นเงินทุนแก่คู่บ่าวสาวในการตั้งตัว
7. การรดน้ำสังข์
สามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า “พิธีหลั่งน้ำสังข์” หรือมีชื่อที่เป็นทางการว่า “พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร” ซึ่งส่วนนี้เป็นขั้นตอนงานแต่งที่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่และเพื่อนๆ จะได้เข้าร่วมอวยพรแด่คู่บ่าวสาว โดยเฉพาะในเรื่องการครองคู่และการครองเรือน เพื่อให้ชีวิตคู่ราบรื่น มีขั้นตอน ดังนี้
- คู่บ่าวสาวนั่งที่ตั่งรดน้ำสังข์ โดยเจ้าบ่าวนั่งด้านขวาของเจ้าสาว
- พนมมือ วางลงบนหมอนรองมือ ด้านล่างจะมีพานรองน้ำสังข์
- ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัยให้คู่บ่าวสาว สวมมงคลแฝดที่ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อยแล้ว วางลงบนศีรษะคู่บ่าวสาว จากนั้นหลั่งน้ำสังข์ พร้อมอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาว
- การเข้าอวยพรเรียงตามลำดับอาวุโส
8. จดทะเบียนสมรส
คู่บ่าวสาวมักจะแยกการจดทะเบียนสมรสออกจากขั้นตอนในพิธีวันแต่งงาน แต่หากคู่บ่าวสาวต้องการให้มีการจดทะเบียนในงานแต่งงาน ก็สามารถทำได้หลังจากขั้นตอนของการหลั่งน้ำสังข์ โดยเอกสารสำคัญที่คู่บ่าวสาวต้องเตรียม มีดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง ที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนาของคู่บ่าวสาว
- ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนาของคู่บ่าวสาว
- สำเนาบัตรประชาชนของพยาน 2 ท่าน และพยานทั้ง 2 ท่าน ต้องเข้าร่วมในงานแต่งด้วย
- หากเคยมีประวัติการหย่าร้างมาก่อน ต้องนำหลักฐานการหย่ามาแสดง
- สูติบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร (กรณีหากมีบุตรก่อนการจดทะเบียนสมรส)
- หากสมรสกับชาวต่างชาติ ต้องเตรียมหนังสือเดินทาง (Passport) และ หนังสือรับรองสภาพบุคคลจากสถานทูต พร้อมคำแปลที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้อง
- ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 3 วัน พร้อมเตรียมค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ 200 บาท รวมถึง การจัดหารถรับ – ส่งให้เจ้าหน้าที่
9. ส่งคู่บ่าวสาวเข้าเรือนหอและทำพิธีปูที่นอน
ขั้นตอนงานแต่งในขั้นนี้ โดยปกติแล้วพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้ใหญ่ที่เป็นคู่สามีภรรยา ซึ่งมีชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน และมีลูกที่เป็นคนดี มาเป็นผู้ปูที่นอนในห้องหอของคู่บ่าวสาว ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
• พิธีปูที่นอน
ก่อนจะถึงฤกษ์เวลาที่กำหนด พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญญาติคู่สามี – ภรรยาที่เป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และมีคุณสมบัติดังที่กล่าวไป มาปูที่นอนให้ เพื่อให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นเช่นกัน มีวิธีการดังนี้
- ผู้ใหญ่คู่สามี – ภรรยา จัดเรียงหมอน 2 ใบ ปัดที่นอนพอเป็นพิธี
2. จัดวางสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธี เช่น ฟักเขียว ไม้เท้า หินบดยา แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมาก) ไก่ขาว ขันน้ำมนต์ ขันบรรจุข้าวตอกดอกไม้ ดอกรัก ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ พร้อมกับให้ศีลให้พร และโปรยลงบนที่นอน
3. ผู้ใหญ่คู่สามี – ภรรยา นอนลงบนเตียงนั้น ฝ่ายหญิงนอนซ้าย ฝ่ายชายนอนขวา กล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว และลุกจากเตียง
• พิธีส่งตัวเข้าหอ
- เจ้าสาวกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายตัวเอง เพื่อขอพร
2. แม่เจ้าสาวพาเจ้าสาวมาหาเจ้าบ่าวในห้อง พร้อมกับพูดฝากฝังให้ดูแลเจ้าสาว พร้อมกล่าวโอวาทเล็กน้อย เพื่อความเป็นสิริมงคล
3. คู่บ่าวสาวนอนลงบนที่นอน
4. พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอน กล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว จากนั้นให้คู่บ่าวสาวอยู่กันตามลำพัง
การวางแผนและใส่ใจในรายละเอียดของขั้นตอนการแต่งงานเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้งานออกมาเรียบร้อยสมบูรณ์ เพราะการแต่งงานจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และเหตุการณ์ในวันนั้นจะตราตรึงใจและอยู่ในความทรงจำตลอดไป และแน่นอนว่าการเลือกสถานที่จัดงานก็สำคัญไม่แพ้กัน หากคุณอยากได้สถานที่สวยๆ โรแมนติกและมีความแปลกใหม่ หรือเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานที่ไม่ใช่โรงแรม ก็จะทำให้งานแต่งเป็นที่น่าจดจำประทับใจทั้งผู้ร่วมงานและคุณเอง