แนะนำ 10 เกมสันทนาการกลุ่มดีๆ สำหรับการ Ice Breaking สุดสร้างสรรค์ที่ไม่ควรพลาด
ในการเข้าค่ายหรือการจัดสัมมนาตามสถานที่ต่างๆ นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบปะหรือทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความสนิทสนมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การทำกิจกรรมสันทนาการกลุ่มจึงเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการจัดสัมมนาให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากการสันทนาการรูปแบบกลุ่มจะสร้างความสนุกสนานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และส่งเสริมให้เกิดความสนิทสนมต่อกัน อีกทั้งมีส่วนช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากยิ่งขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมหรือเกมสันทนาการฮาๆ ที่ต้องการสร้างอารมณ์เชิงบวกให้กับทุกคน โดยในบทความนี้ ได้รวบรวม 10 เกมสันทนาการดีๆ พร้อมกติกาการเล่นที่เข้าใจง่าย รวมถึงข้อควรระวังในการเล่น เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่เข้าร่วม จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
1. ตามหาป้ายชื่อของตัวเอง
กิจกรรมตามหาป้ายชื่อของตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสันทนาการกลุ่มที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกคนได้เริ่มทำความรู้จักกับคนอื่นๆ และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นเพียงไม่กี่ชิ้น โดยก่อนเริ่มเล่นนั้น ให้เตรียมปากกาและป้ายชื่อไว้ให้พร้อม ก่อนเริ่มเล่นเกมตามหาป้ายชื่อกันได้เลย
กติกาการเล่น
- เขียนชื่อตัวเองลงไปที่ด้านหน้าของป้ายชื่อ โดยห้ามทำสัญลักษณ์ใดๆ ไว้ที่ด้านหลังของกระดาษ
- รวบรวมป้ายชื่อที่เขียนเสร็จแล้ว มาไว้ที่ด้านหน้าแถว
- ทีมงานนำป้ายชื่อทั้งหมดไปสุ่มแจกให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน โดยเอาด้านหลังของป้ายชื่อหันออกมา
- เมื่อเริ่มเล่น ให้เดินไปถามหาป้ายชื่อของตัวเองกับคนอื่น พร้อมแนะนำตัว โดยกิจกรรมดังกล่าวสามารถกำหนดระยะเวลาเล่นไว้ที่ประมาณ 15-20 นาที ทั้งนี้ ในระหว่างนั้นทีมผู้จัดงานสามารถเปิดเพลง หรือรบกวนสมาธิของผู้เล่นทุกคนได้
ข้อควรระวังในการเล่น
ในการแนะนำตัวนั้น หากมีการพูดคุยหรือสนทนาในประเด็นต่างๆ อาจต้องระมัดระวังเรื่องการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หรือการสื่อสารที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้
2. ชิงธง
อีกหนึ่งเกมสันทนาการสนุกๆ ที่ช่วยสร้างความสามัคคีระหว่างคนในกลุ่มผ่านการวางแผนและการทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยเกมชิงธง ซึ่งใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายอย่าง ไม้ยาว ธงโบกขนาดเล็ก และเชือก ก็สามารถเล่นได้แล้ว
กติกาการเล่น
- แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม โดยอาจใช้สิ่งของหรือสัญลักษณ์ที่สามารถสังเกตได้ง่ายเป็นตัวแบ่งทีม เช่น สีเสื้อ หรือริบบิ้นผูกข้อมือ
- นำเชือกมามัดธงโบกเข้ากับไม้ขนาดยาว และกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหนึ่งเป็นฝ่ายถือธง ซึ่งเรียกว่า “ฝ่ายตั้งรับ” ในขณะที่อีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายบุกยึดธง
- เมื่อเริ่มเกมแล้ว หากทีมบุกสามารถสัมผัสธงได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ แต่หากทีมบุกไม่สามารถชิงได้ธงภายในเวลาที่กำหนด ฝ่ายตั้งรับจะเป็นผู้ชนะ โดยในการเล่นสามารถกำหนดเวลาเป็น 10-15 นาทีได้ตามความเหมาะสม
ข้อควรระวังในการเล่น
เนื่องจากเกมชิงธงเป็นกิจกรรมสันทนาการกลุ่ม ที่อาจก่อให้เกิดการปะทะกันได้ จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีปัญหาข้อต่อ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เล่นเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ผู้เล่นทุกคนควรระวังการใช้แรงที่มากเกินไปจนป็นอันตราย
3. จับผิดภาพ
สร้างความฮาและรอยยิ้มแสนสนุกสนานให้กับทุกคนด้วยเกมจับผิดภาพที่ต้องอาศัยทักษะการมองและความแม่นยำโดยเฉพาะ ซึ่งอาจต้องเตรียมอุปกรณ์เยอะพอสมควร โดยเฉพาะการหารูปภาพ 2 รูปที่มีความเหมือนและต่างกันจำนวนหลายๆ ชุดไว้สำหรับการเล่นกิจกรรมสันทนาการกลุ่มดังกล่าว
กติกาการเล่น
- เตรียมรูปภาพที่คล้ายกันเป็นคู่ๆ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันเรื่องสี สิ่งของในรูป หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด 5 จุด
- ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหาจุดที่แตกต่างกันของภาพแต่ละคู่
ทั้งนี้ สามารถเพิ่มกติกาอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานได้ เช่น การแบ่งกลุ่มเพื่อแข่งขัน หรือการจับเวลา เป็นต้น
ข้อควรระวังในการเล่น
จับผิดภาพเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้สมองและสายตาค่อนข้างมาก ดังนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเวลาพักด้วย นอกจากนี้ หากในการเล่นจับผิดภาพเป็นกลุ่ม รูปภาพควรมีขนาดที่ใหญ่พอเหมาะที่ทุกคนจะสามารถมองเห็นได้
4.ใบ้คำ
เกมสันทนาการฮาๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะและสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินใจ ที่ทุกคนจะต้องใช้ทักษะทางร่างกายเพื่อใบ้คำ ซึ่งอาจต้องอาศัยการเดาใจของคนในกลุ่มอีกด้วย โดยเกมใบ้คำนั้นไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือสิ่งของแต่อย่างใด
กติกาการเล่น
- ผู้ดำเนินกิจกรรมจะกำหนดผู้ใบ้และผู้ตอบไว้
- ผู้ดำเนินกิจกรรมจะบอกคำศัพท์ให้กับคนที่จะเป็นฝ่ายใบ้คำ
- เมื่อคนใบ้คำรู้คำตอบแล้ว จะต้องหาวิธีการใบ้ด้วยท่าทางหรือคำพูดให้กับคนทาย เพื่อตอบคำตอบที่ถูกต้องภายในเวลาหรือเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนด
ข้อควรระวังในการเล่น
ระมัดระวังการใบ้คำหรือการออกท่าทาง รวมถึงการทายคำบางคำ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เช่น การใบ้คำที่ส่อถึงเรื่องเพศ อายุ หรือสีผิว และอื่นๆ เป็นต้น
5. ส่งของและตอบคำถาม
หนึ่งในเกมที่ให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ทั้งผ่านการพูดหรือการตอบคำถาม เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากกว่าเดิม โดยอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ กระดาษ ปากกาและภาชนะ
กติกาการเล่น
- เริ่มต้นเกมสันทนาการสนุกๆ สุดฮาด้วยการให้ผู้เข้าร่วมนั่งล้อมวงเป็นวงกลม
- แจกกระดาษให้ทุกคน คนละ 1 แผ่น โดยให้ทุกคนเขียนคำถามที่อยากถามลงไปในกระดาษ
- นำกระดาษของทุกคนมารวมกันในภาชนะ ก่อนจะส่งภาชนะต่อกันไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ในขั้นตอนนี้สามารถเปิดเพลงประกอบ เพื่อสร้างความสนุกสนานได้
- เมื่อได้รับสัญญาณหยุด หรือหยุดเพลงที่กำลังเปิด ให้คนที่ถือกระดาษคนสุดท้าย สุ่มหยิบกระดาษคำถามขึ้นมาเพื่อตอบ จากนั้นค่อยส่งต่อให้คนอื่นเล่นและถามต่อ
ข้อควรระวังในการเล่น
ในการเขียนคำถาม พยายามหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้เข้าร่วมคนอื่น เช่น ระวังคำถามที่ส่อถึงเรื่องเพศ อายุ หรือสีผิว และอื่นๆ เป็นต้น
6. ทายภาพวาด
เกมทายภาพวาดเป็นกิจกรรมสันทนาการกลุ่มที่ต้องอาศัยความช่างสังเกตหาจุดเด่นและความคิดสร้างสรรค์ในการวาดรูป เพื่อให้คนอื่นๆ ในทีมเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อถึง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ คือ กระดาษหรือแผ่นพลาสติกใส และเครื่องเขียน เช่น ดินสอ ปากกา หรือสีน้ำ เป็นต้น
กติกาการเล่น
- ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการกลุ่มต่อแถวยาวเป็นแถวเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคน สามารถแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มๆ ได้
- ให้คนที่อยู่ในแถวนำกระดาษหรือแผ่นใสมารองไว้ข้างหลังของคนที่อยู่ด้านหน้า
- วาดรูปตามโจทย์ที่กำหนด จากนั้นให้คนที่อยู่ด้านหลังเป็นคนวาดต่อ ในขั้นตอนนี้แนะนำให้จับเวลาประมาณ 5-10 วินาที ในระหว่างที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนวาดรูป เพื่อเพิ่มความกดดันและความสนุกสนานให้กิจกรรม
- เมื่อวาดจนถึงคนสุดท้ายแล้ว ให้คนที่อยู่ท้ายแถวเป็นผู้ตอบออกมาว่าภาพที่เห็นคืออะไร
ข้อควรระวังในการเล่น
ระวังรูปวาดที่ส่อถึงเรื่องเพศ อายุ หรือสีผิว และอื่นๆ ที่อาจสร้างความไม่พอใจหรือความไม่สบายใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ ได้
7. ต่อความยาว
สร้างความท้าทายใหม่ๆ กับกิจกรรมต่อความยาว ซึ่งเป็นเกมสันทนาการสนุกๆ ที่สร้างความฮา ตื่นเต้นและเร้าใจให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ทุกๆ คนได้รู้จักกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งจากการวางแผนหรือการสนทนาร่วมกัน โดยสิ่งของที่มักจะนำมาใช้เล่น คือ ของใช้ติดตัว หรือ หลอดหรือขวดพลาสติก เป็นต้น
กติกาการเล่น
- นำขวดพลาสติกหรือหลอดพลาสติกที่เตรียมไว้มาเรียงต่อกัน
- ในแต่ละทีมจะต้องต่อสิ่งของให้ยาวที่สุด โดยมีข้อแม้ว่าสิ่งของที่นำมาต่อกันนั้นจะต้องไม่ขาดหรือหลุด ซึ่งผู้ที่ต่อสิ่งของได้ยาวที่สุดจะเป็นผู้ชนะไปโดยทันที
ข้อควรระวังในการเล่น
เนื่องจากการต่อสิ่งของต่างๆ ที่มีความยาวมากเกินไป อาจต้องระมัดระวังเรื่องทำของหล่นหรือของล้มทับเพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้
8. ซ่อนแอบ
ซ่อนแอบถือเป็นเกมที่ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นเกมสันทนาการที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย อีกทั้งใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้
กติกาการเล่น
- พิธีกรผู้ดำเนินกิจกรรมจะเป็นคนกำหนดทีมค้นหาและทีมซ่อนแอบ หรือในกรณีที่เป็นการซ่อนของ ทางผู้จัดกิจกรรมจะเป็นฝ่ายนำไปซ่อนไว้
- ระหว่างที่กำลังซ่อนสิ่งของหรือซ่อนคนนั้น ฝ่ายค้นหาจะต้องหลับตาเพื่อรอสัญญาณ
- เมื่อได้รับสัญญาณแล้ว ฝ่ายหาจะต้องค้นสิ่งของหรือคนภายในเวลาที่กำหนด หากไม่เจอจะเป็นฝ่ายแพ้นั่นเอง
ข้อควรระวังในการเล่น
เนื่องจากการซ่อนแอบอาจใช้เวลานานจนเกินไปหรืออยู่ในสถานที่ซึ่งกว้างและยากจะค้นหาได้ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่ซ่อนแอบหรือระยะเวลาค้นหาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ไม่ควรนำของไปซ่อนในสถานที่ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวผู้ร่วมกิจกรรม เช่น สถานที่รกร้าง เพราะอาจมีสัตว์ไม่พึ่งประสงค์อยู่ หรือในบริเวณใกล้กับการก่อสร้าง ที่อาจมีของตกลงมาได้ เป็นต้น
9. ตอบคำถามจากหมวดต่างๆ
สำหรับใครที่ชอบการเล่นปริศนาทายคำหรือการตอบคำถามนั้น จะต้องไม่พลาดกับกิจกรรมตอบคำถามจากหมวดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมสันทนาการกลุ่มที่ให้ความรู้และแง่คิดดีๆ แล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย โดยกิจกรรมตอบคำถามจากหมวดต่างๆ สามารถเล่นได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบที่ไม่ใช่อุปกรณ์ หรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น บล็อกตัวอักษร เป็นต้น
กติกาการเล่น
- แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นสองฝ่าย
- พิธีกรเลือกหมวดของคำ เช่น ชื่อสัตว์ ชื่อต้นไม้ ชื่อจังหวัด เป็นต้น
- ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายสลับกันตอบคำถาม และเมื่อฝ่ายใดไม่สามารถตอบได้จะเป็นผู้ที่แพ้ไป โดยในขั้นตอนนี้ควรจับเวลาที่ให้แต่ละฝ่ายตอบประมาณ 3-5 วินาที
- ในกรณีที่เลือกใช้อุปกรณ์เสริม เช่น การใช้บล็อกตัวอักษรพยัญชนะ ก-ฮ ในเกมตอบคำถามจากหมวดต่างๆ สามารถเพิ่มกติกาพิเศษ คือ ในการตอบหมวดนั้นๆ ผู้เล่นจำเป็นต้องหยิบบล็อกพยัญชนะมาด้วย เช่น โจทย์คือชื่อสัตว์ ผู้เล่นต้องหยิบตัวอักษร ม ม้า มาก่อนจะตอบ “แมว” หรือ “ม้า” โดยผู้เล่นคนอื่นๆ ทั้งในทีมเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้ามห้ามใช้ตัวอักษรเดิมที่เคยตอบไปแล้ว โดยเมื่อจบเกม ฝ่ายไหนที่ได้จำนวนบล็อกตัวอักษรมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น
ข้อควรระวังในการเล่น
เพราะบางคำถามอาจใช้เวลานานเกินไป การกำหนดเวลาให้เหมาะสมจะช่วยไม่ให้เกิดความน่าเบื่อได้ นอกจากนี้ ในการตอบคำถามต้องระวังการใช้คำพูดที่อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น คำที่ส่อถึงเรื่องเพศ หรือคำที่แสดงถึงการดูถูก เป็นต้น
10. DIY สิ่งของ
เอาใจสาย DIY หรือคนรักการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ กับกิจกรรม DIY สิ่งของ ซึ่งเป็นกิจกรรมสันทนาการกลุ่มที่จะให้ทุกคนมาระดมความคิดและแสดงทักษะการออกแบบหรือความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมา โดยอุปกรณ์ที่ใช้นั้น ขึ้นอยู่กับโจทย์และเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้น
กติกาการเล่น
- แบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ 2 ทีมขึ้นไป
- ให้ทุกคนนำสิ่งของที่มีอยู่หรือตามที่ได้รับมาออกแบบเป็นสิ่งของต่างๆ ตามที่โจทย์กำหนด
- ในขณะเล่น จะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับผู้เล่นคนอื่นในทีม ไม่งั้นจะถูกปรับแพ้ได้
- เมื่อประดิษฐ์สิ่งของตามที่โจทย์กำหนดแล้ว จะให้กรรมกรรมทำการตัดสินผู้ชนะจากผู้ที่สร้างสิ่งของได้เหมือนหรือคล้ายคลึงที่สุด
ข้อควรระวังในการเล่น
การประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ให้ระมัดระวังเรื่องการใช้อุปกรณ์บางชนิด เช่น ของมีคม เพราะอาจก่อให้เกิดบาดแผลได้
เพื่อให้ทุกคนได้สนุกสนานและบันเทิงใจกับการทำกิจกรรมต่างๆ เกมสันทนาการสนุกๆ หรือเกมสันทนาการฮาๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อยากจะขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก ด้วยรูปแบบการเล่นที่เข้าใจง่าย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวบุคคล โดยเฉพาะในการจัด Outing ให้น่าสนใจ จำเป็นจะต้องคำนวนถึงรูปแบบกิจกรรมที่เข้ากันได้กับอายุของผู้เข้าร่วม จึงจะช่วยให้ทุกคนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการกลุ่มนั้น มีความสุขมากยิ่งขึ้นได้