วิธีการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น
ในปัจจุบันปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เช่น การไม่ใส่ใจลูกๆ การพูดจาทำร้ายกัน ไม่ให้กำลังใจ การพูดต่อว่าเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้ แน่นอนว่าหากเรามองเห็นความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจะสามารถช่วยหล่อหลอมให้ครอบครัวมีความสุข ความอบอุ่น และสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนในครอบครัวได้
ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นปัจจัยที่ทำให้รากฐานของครอบครัวแข็งแรงมากยิ่งขึ้น บทความนี้เลยขอแบ่งปัน 8 วิธีสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น มีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะการมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพและจิตใจที่แข็งแรง
รวม 8 วิธีการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
ในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวสามารถเริ่มต้นได้จากเรื่องเล็กๆ เช่น การทานข้าวเย็นด้วยกัน การงดเล่นมือถือเพื่อใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากขึ้น หรือจะเป็นกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้คนในครอบครัวได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่การใช้เวลาอยู่ด้วยกันยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพราะยังต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ของคนในครอบครัวให้ไปในทางที่ดีขึ้น อย่างการเลือกใช้คำพูด การไม่อคติ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นได้เช่นกัน
พูดคุยกันเป็นประจำ
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการสื่อสารค่อนข้างเยอะ เราจะเห็นได้ว่าการพูดคุยสั้นๆ ผ่านทางตัวหนังสือเป็นการพูดคุยที่ไม่มีประสิทธิภาพสักเท่าไร เพราะการพูดคุยที่ไม่สามารถสบตา หรือเห็นสีหน้าของคนพูดในขณะนั้น ทำให้ไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกในการพูดคุยได้
ขั้นตอนแรกของการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือการพูดคุยกันเป็นประจำโดยไม่ผ่านตัวหนังสือ แต่เป็นการคุยกันก่อนไปทำงาน ไปโรงเรียนหรือหลังจากที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้าในช่วงทานข้าวเย็น ทั้งนี้ การพูดคุยเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน เพราะถ้าในขณะที่พูดคุย แล้วเกิดอาการไม่พอใจ แสดงสีหน้าท่าทางแย่ๆ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงไปด้วย
วิธีการพูดคุยให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นมีดังนี้
- สร้างความเชื่อใจในครอบครัวด้วยการพูดคุยในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าเนื้อเรื่องการคุยจะเป็นเรื่องอะไร คนในครอบครัวจะต้องมีหน้าที่รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ
- การเป็นพ่อแม่ที่สามารถอธิบายหรือให้คำปรึกษากับลูกๆ ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นได้เป็นเรื่องที่ควรทำ ยิ่งหากเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวอย่าง เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ช่วงชีวิตของวัยรุ่นที่มักจะพบเจอ คนที่เป็นพ่อแม่ต้องพยายามพูดคุยและอธิบายในเรื่องนี้ได้
- สิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นคือ การพูดคุยที่แสดงออกถึงความอ่อนโยน การแสดงสีหน้า ท่าทาง การยิ้ม การกอดเพื่อให้กำลังใจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น
ให้เวลากับคนในครอบครัว
พยายามหาเวลาเพื่อให้ได้ใช้เวลาร่วมกันกับคนในครอบครัว การจัดสรรเวลาไม่จำเป็นว่าต้องใช้เวลาร่วมกันทั้งวัน อาจจะเริ่มจากหลังเลิกงาน หรือลูกๆ เลิกเรียน สามารถแบ่งเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการนั่งดูหนัง การทานข้าว การออกกำลังกาย ออกไปเดินเล่นด้านนอก และถ้าจะให้ดีหากสามารถเลือกวันหยุด อย่างวันเสาร์หรือวันอาทิตย์เพื่อพาครอบครัวออกไปทำกิจกรรมสนุกๆ ด้านนอก ไปเที่ยวต่างจังหวัด การใช้เวลาร่วมกัน หัวเราะและสนุกไปด้วยกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
เคารพซึ่งกันและกัน
คนในครอบครัวควรแสดงออกถึงความเคารพซึ่งกันและกัน การแสดงความเคารพไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกด้วยการยกมือไหว้ หรือการแสดงความเคารพต่อผู้ที่มีอายุสูงกว่าเท่านั้น แต่ควรเคารพซึ่งกันและกันในเรื่องความเป็นส่วนตัว การแสดงออกทางด้านความคิดเห็น ความชอบของแต่ละบุคคล เช่น การให้พื้นที่สมาชิกในครอบครัวได้มีเวลาทำสิ่งที่อยากทำ การหยิบของที่ต้องขออนุญาตก่อนหยิบ ไม่แอบฟังเวลาคุยโทรศัพท์
ให้ความสำคัญกับทุกคน
ควรสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นโดยการทำให้คนในครอบครัวรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินเข้าไปทักทาย การถามถึงสิ่งที่เจอในแต่วันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และยังทำให้คนในครอบครัวรู้ว่าตัวเองเป็นคนสำคัญได้รับการเอาใจใส่
สำหรับวันพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันเรียนจบ วันได้เลื่อนตำแหน่ง ก็แนะนำให้เพิ่มเติมความสุขด้วยการเลือกซื้อของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี หรือจะพากันออกไปทางข้าวนอกบ้านก็เป็นสิ่งที่สร้างความสุขได้
สนับสนุนและส่งเสริมคนในครอบครัว
ไม่ควรนำความคิด ความชอบของตัวเองมาบังคับหรือตัดสินคนในครอบครัว เราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนอาจจะมีความชอบ ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่ควรทำคือไม่ว่าใครจะตัดสินใจทำอะไร เรามีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เห็นว่ามันไม่สมควรก็แค่ให้คำแนะนำ หรือบอกเหตุผลข้อดีข้อเสียนั้นๆ ไม่ควรไปห้ามหรือพูดจาว่าร้ายเด็ดขาด เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง
แก้ปัญหาด้วยเหตุผล ไม่โทษกันและกัน
การแก้ปัญหาที่ถูกวิธีและควรทำเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นคือ การพยามยามที่จะไม่ทำโทษ หรือต่อว่ากับปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการโทษกันไปมา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ ในการแก้ไขปัญหาทุกครั้งควรที่จะแก้ด้วยเหตุผลว่าปัญหานี้เกิดมาจากอะไร ทำไมถึงเกิดปัญหานี้ และเราควรช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
รู้จักให้อภัย
ครอบครัวที่มีสุขภาพดี และแข็งแรงต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างการรู้จักให้อภัย การกล้าที่จะขอโทษในสิ่งที่ทำผิด และกล้าที่จะให้อภัยเมื่อคนทำผิดกล่าวขอโทษ เป็นการสอนให้คนในครอบครัวรู้จักการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รู้จักการเอ่ยขอโทษและการให้อภัย
ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบร่วมกันบ่อยๆ
ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างได้ภายในครอบครัวคือ การหากิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น แต่กิจกรรมที่เลือกทำควรเป็นกิจกรรมที่โหวตมาแล้วว่าคนในครอบครัวอยากทำและรู้สึกสนุกด้วย ถ้าเลือกกิจกรรมที่มีแค่เรารู้สึกสนุก แต่คนในครอบครัวไม่รู้สึกแบบนั้น การทำกิจกรรมร่วมกันก็จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้
แนะนำกิจกรรมง่ายๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งครอบครัว
- ทำอาหาร อาจจะเลือกเมนูอร่อยที่คนในบ้านชอบ แล้วช่วยกันทำอาหารเมนูนี้ขึ้นมาด้วยกัน เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสุข เสียงหัวเราะ และยังได้ชิมรสชาติฝีมืออาหารที่ตัวเองได้ทำอีกด้วย
- สร้างสรรค์ผลงาน DIY เช่น การทำเสื้อมัดย้อม ทำเครื่องประดับ ทำสบู่ดอกไม้ เป็นต้น
- การทำสวนปลูกต้นไม้ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกต้นไม้ ดอกไม้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สนุกแล้ว ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนในครอบครัวต้องช่วยกันหมั่นบำรุงดูแลต้นไม้ให้เติบโต เพื่อจะได้เห็นพืชผลจากต้นไม้ที่ปลูกไว้ และการปลูกต้นไม้ยังทำให้บริเวณบ้านดูร่มรื่นน่าอยู่
- เล่นเกมส์ด้วยกัน อาจจะเป็นเกมส์ที่ชวนให้ระลึกถึงวันวานอย่างเกมส์เศรษฐี เกมส์บอร์ด เกมส์ทายคำ หรือเกมส์ที่ต้องใช้ผู้เล่นหลายคน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้
- สนุกกับกิจกรรมนอกบ้าน ในวันหยุดแต่ละเดือนควรออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การไปสวนสัตว์หรือสวนสนุก การไปเดินเล่นในสวน เป็นต้น
ความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
หากพื้นฐานของครอบครัวไม่แข็งแรง ไม่มีการพูดคุย หรือแม้กระทั่งไม่พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น การกระทำแบบนี้อาจจะส่งผลในระยะยาวทางด้านจิตใจ และการแสดงออกผ่านการกระทำได้ในอนาคต เช่น หากลูกๆ มีปัญหาก็ไม่กล้าที่จะขอคำปรึกษาจากคนที่เป็นพ่อแม่ การทำร้ายจิตใจด้วยคำพูดทำให้ลูกๆ ก้าวร้าว หรือโศกเศร้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราขอยกตัวอย่างผลลัพธ์ของสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวว่าสามารถส่งผลดีต่อคนในครอบครัวได้อย่างไรบ้าง
- ทำให้คนในครอบครัวเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน การที่ครอบครัวปูพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
- เกิดความรักใคร่สามัคคีกันในครอบครัว พยายามที่จะคอยช่วยเหลือกันหากเกิดปัญหา
- ส่งผลดีทางด้านจิตใจต่อคนในครอบครัว ทำให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและจิตใจแข็งแรง
- ครอบครัวอบอุ่น สายใยแน่นแฟ้น
วิธีรับมือเมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว
ได้รู้วิธีในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ครอบครัวแข็งแรง มีความสุขมากขึ้นไปแล้ว มาถึงคำแนะนำในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นได้ด้วยการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่
สิ่งที่ควรทำคือรับมือกับปัญหานั้นอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยปละละเลยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจ และรู้สึกถึงความห่างเหินกันภายในครอบครัว การรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นมี 3 วิธีด้วยกัน
สื่อสารกันให้มากขึ้น
การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยการสื่อสารให้มากขึ้น เพราะครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถพูดสิ่งที่อยู่ในใจหรืออัดอั้นได้อย่างเต็มที่ การออกมาพูดถึงปัญหา ความรู้สึกอาจจะดูเกร็งๆ หรือเป็นเรื่องเคอะเขินไปบ้าง แต่หน้าที่ของคนในครอบครัวที่ควรแสดงคือ การพร้อมรับฟังไม่ว่าเรื่องราวนั้นๆ จะเกี่ยวกับอะไร ถ้าไม่มีการพูดคุยหรือเพิกเฉยต่อความรู้สึก อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ หากไม่มีใครกล้าพูดให้ลองใช้วิธีการซักถามสมาชิกในครอบครัวดูว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการพูดคุย
ลดอคติในครอบครัว
สิ่งที่ทำให้เกิดอคติในครอบครัวมาจากการนึกคิด คำพูด ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หากอยากสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นควรยอมรับในความคิดต่าง ถ้าเด็กๆ แสดงความคิดเห็นในมุมมองของเด็กๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพูดว่าร้าย หรือทำท่าทีโกรธ เพราะจะทำให้เด็กๆ เกิดอคติที่ไม่ดีได้ เราควรรับฟังอย่างเข้าใจ และถ้าเห็นต่างก็อธิบายถึงสาเหตุนั้นๆ ได้
ไม่ลำเอียง
ควรยึดถือความเท่าเทียมกัน การไม่ลำเอียงเป็นสิ่งสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของทุกๆ สังคมคือการรักลูกไม่เท่ากัน เช่น พ่อรักคนนี้มากกว่า แม่รักคนนั้นมากกว่า สาเหตุที่ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกแบบนี้เพราะว่าการแสดงออกด้วยคำพูด หรือการกระทำนั้นเอง
แท้จริงแล้วเรารักคนในครอบครัวเท่าๆ กัน แต่การแสดงออกจะเป็นจุดหนึ่งที่สามารถบอกความแตกต่างได้ คำแนะนำที่สามารถทำได้คือ การพยายามพูดคุยอธิบายถึงสาเหตุและเหตุผลต่างๆ ให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายจะได้เป็นการทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อแสดงถึงความไม่ลำเอียง
ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานในสังคม ก่อนที่จะออกไปเจอกับสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมในสถานศึกษา หรือสังคมในที่ทำงาน การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวนอกจากจะช่วยให้ครอบครัวมีความสุขแล้ว ยังช่วยเป็นเกราะป้องกัน ช่วยเพิ่มความมั่นใจ และช่วยให้จิตใจของเด็กๆ เข้มแข็งขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ รอบตัวที่ต้องเจอ ที่สำคัญการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่นยังยังช่วยเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพให้กับสังคมอีกด้วย