fbpx

How to เอาตัวรอดเมื่อหลงป่า หาทางออกไม่เจอทำไงดี?

การเดินป่า หรือการแคมป์ปิ้ง เพื่อดูหมอกยามเช้า หรือขึ้นไปรับอากาศเย็นๆ บนเขา เป็นกิจกรรมที่นักเดินทางหลายๆ คนชื่นชอบกันเป็นอย่างมาก แต่ว่าเส้นทางในป่านั้นค่อนข้างซับซ้อน และอาจทำให้สับสนจนเกิดการหลงทางได้ง่ายขึ้น ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกเส้นทาง และก่อนเดินทางก็ควรมีการเตรียมตัวเข้าป่าให้พร้อมเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้หลงป่า โดยในบทความนี้จะพาไปดูว่าอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่า พร้อมกับแนะนำทักษะการเอาตัวรอดในป่าง่ายๆ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย! 

วิธีเอาตัวรอดในป่า

อุปกรณ์เอาชีวิตรอด ที่นักเดินป่าควรมีติดกระเป๋า 

ก่อนออกเดินทางศึกษาเส้นทางธรรมชาติในที่ต่างๆ จะต้องวางแผนล่วงหน้าเสมอ เพื่อที่จะได้มีการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ที่สำคัญควรเตรียมอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าติดกระเป๋าไปด้วยเสมอ โดยอุปกรณ์ที่นักเดินป่าควรมีติดกระเป๋าไว้มีทั้งหมด ดังนี้ 

มีดเดินป่า

มีดพกเดินป่า

มีดพก เป็นอุปกรณ์เอาชีวิดรอดในป่าชิ้นสำคัญที่ทุกคนควรพกติดตัวเข้าป่าด้วยทุกครั้ง เพราะสามารถใช้งานที่สำคัญได้หลากหลายอย่าง เช่น ตัดไม้ ตัดเชือก ปอกผลไม้ หรือใช้ตัดสิ่งของต่างๆ รวมถึงใช้ทำสัญลักษณ์ และเครื่องหมาย เป็นต้น

อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเดินเขา

ชุดปฐมพยาบาล

ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุที่มีคนได้รับบาดเจ็บ หรือบาดแผลเล็กน้อย ก็จะสามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ และป้องกันไม่ให้แผลเกิดการติดเชื้อ หรืออักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะนักเดินทางที่มีโรคประจำตัวควรพกยาติดตัวไว้ตลอดเวลา ถ้าหากเกิดโรคกำเริบขึ้นมาจะได้รักษา และทานยาได้อย่างทันท่วงที 

เชือกเดินป่า

เชือก

อุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าอีกชิ้นที่มีความสำคัญ คือ เชือก โดยเชือกนั้นสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มัด ผูกสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ไว้ด้วยกัน รวมถึงสามารถใช้หย่อนวัดความสูง และส่งของจากที่สูงลงที่ต่ำได้อีกด้วย และถ้าหากรู้ถึงวิธีการผูกเชือกด้วยเงื่อนต่างๆ ก็จะช่วยให้ใช้งานเชือกได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

เข็มทิศเดินป่า

เข็มทิศ

เข็มทิศ เป็นอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าที่จะช่วยนำทาง และป้องกันไม่ให้นักเดินทางหลงป่า เพราะว่าภายในป่านั้นมีต้นไม้ และบริเวณรอบๆ ที่ดูคล้ายกันไปหมด และถ้าหากตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่นักเดินทางเกิดจำทางไม่ได้ และตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น การมีเข็มทิศจะสามารถช่วยให้หาทางออกจากป่าได้ง่ายขึ้น

ไฟฉายใช้ในป่า

ไฟฉาย

ไฟฉาย เป็นอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าที่มีหน้าที่ในการให้แสงสว่าง โดยจะช่วยส่องแสงสว่างในช่วงเวลากลางคืน เพื่อให้นักเดินทางได้ใช้ส่องนำทาง และตรวจดูความเรียบร้อยบริเวณรอบๆ แถมยังนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือได้อีกด้วย  

อุปกรณ์เอาตัวรอดในป่า

นกหวีด

นกหวีด เป็นอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าด้วยการใช้นกหวีดส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นวิธีเอาตัวรอดในป่ารูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้คนที่กำลังมาช่วยเหลือรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์การส่งสัญญาณระหว่างเพื่อนคนอื่นๆ ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันได้อีกด้วย 

เข้าป่าต้องรู้อะไรบ้าง

ทักษะการเอาตัวรอดในป่า ที่นักเดินทางควรรู้ 

ภายในป่านั้นอาจจะมีทางเดินที่ค่อนข้างซับซ้อน ขรุขระ ลาดชัน และวกวน อาจทำให้การเดินทางของทุกคนมีอุปสรรคได้ และอาจจะยังมีสัตว์ป่าที่อาศัย และกำลังหากินอยู่ในบริเวณที่ทุกคนต้องเดินผ่าน ดังนั้น ทุกคนจึงต้องมีทักษะการเอาตัวรอดในป่าติดตัวไว้ โดยทักษะที่นักเดินทางควรมี และควรรู้มีทั้งหมด ดังนี้ 

ตั้งสติ

สติ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และทุกคนก็ควรมีสติอยู่ตลอดเวลา เพราะการมีสติจะสามารถช่วยให้ทุกคนนั้นรอดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้ และช่วยให้คิดหาทางออกได้ว่าควรเริ่มต้นทำอะไรก่อน เพื่อให้รอดจากการหลงป่า หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้น และถ้าหากนักเดินทางขาดสติก็จะยิ่งทำให้คิดหาทางออกได้ยาก ลนลาน และรู้สึกกลัวจนร่างกายสูบฉีดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย และสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น 

มองหาทิศทาง

นักเดินทางทุกคนควรดูแผนที่ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง โดยทำการสังเกตว่าเบสแคมป์ หรือที่ทำการอยู่ในทิศทางใด เพราะถ้าหากเกิดกรณีฉุกเฉินอย่างการหลงป่า จะได้คาดเดาได้ถูกว่าควรเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งวิธีการดูทิศทางสามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้ 

ขึ้นไปอยู่บนที่สูง

การเอาตัวรอดในป่าได้นั้นจะต้องรู้ทิศทางเสียก่อน โดยการขึ้นไปอยู่บนที่สูง เป็นวิธีการเอาตัวรอดในป่าที่จะช่วยให้มองเห็นพื้นที่โดยรอบ และช่วยให้รู้ตำแหน่งของตัวเองว่าอยู่ตรงส่วนไหน เพื่อที่จะได้กำหนดทิศทางในการเดินได้อย่างถูกต้อง

สังเกตทิศทางจากดวงอาทิตย์ 

การสังเกตทิศจากดวงอาทิตย์ เป็นวิธีเอาตัวรอดในป่าที่สามารถทำได้ไม่ยาก โดยใช้ทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นหลักก็จะช่วยให้รู้ว่าทิศที่เหลือเป็นทิศอะไร แต่ถ้าหากไม่รู้วิธีสังเกตก็อาจจะใช้วิธีนำไม้มาปักไว้ที่กลางดิน และคอยสังเกตเงาของไม้ที่เคลื่อนไป โดยปกติแล้วมักจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก  

มองหาทิศจากดาวเหนือ

ช่วงเวลากลางคืนที่ทุกคนกำลังหยุดอยู่ที่จุดพักแรม ควรสังเกตว่าดาวเหนืออยู่ตรงไหน โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ เพราะเป็นดวงที่ส่องสว่างมากที่สุดบนท้องฟ้า ซึ่งจะทำให้นักเดินทางรู้ว่าทิศเหนืออยู่ทางใด เพราะทิศที่ดาวเหนืออยู่นั้นเป็นทิศเหนือ 

เดินตามเส้นทางน้ำในเวลากลางวัน

การเดินตามแหล่งน้ำ เป็นวิธีการเอาตัวรอดในป่าที่จะช่วยให้นักเดินทางสามารถหาทางออกได้ง่ายขึ้น และอาจจะเจอกลุ่มนักเดินทางอื่นๆ ได้ เพราะนักเดินทางส่วนใหญ่มักจะพักระหว่างทางตามเส้นทางน้ำ แถมยังมีน้ำให้ดื่มดับกระหายระหว่างทางอีกด้วย

สร้างที่พักแรม 

การสร้างที่พักแรม เป็นวิธีการเอาตัวรอดในป่าอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะว่านักเดินทางนั้นไม่ควรที่จะเดินทางทั้งวันทั้งคืน และอาจทำให้หมดแรงจนอาจเป็นลมได้ โดยนักเดินทางควรสร้างที่พักแรมก่อนมืด เพื่ออาศัยแสงจากดวงอาทิตย์ เพราะว่าในป่าจะมืดเร็ว และมืดมากกว่าปกติ ซึ่งเวลาประมาณ 15.00 น. ก็ควรเริ่มสร้างที่พักได้แล้ว โดยเลือกทำเลที่มีแนวต้นไม้ เถาวัลย์ หรือพุ่มไม้ เพื่อกันไม่ให้สัตว์เข้ามา และเลือกที่พักแรมไม่ตรงกับช่องลม เพราะจะทำให้หนาวจนนอนไม่หลับ และเสี่ยงป่วยได้ง่าย 

นอนบนที่ราบสูง

การนอนบนที่ราบสูง เช่น บนโขดหิน หรือบนต้นไม้สูง จะช่วยให้นักเดินทางปลอดภัยจากสัตว์ป่าที่มักจะออกหากินในเวลากลางคืน และควรหลีกเลี่ยงการนอนใต้ต้นไม้ที่ค่อนข้างรกทึบ เพราะอาจโดนสัตว์ทำร้าย หรือสัตว์มีพิษต่อยได้ง่ายขึ้น 

ทำสัญลักษณ์

พื้นที่ภายในป่าอาจจะมีความคล้ายคลึงกันจนทำให้นักเดินทางจำสับสนกันได้ ดังนั้น การทำสัญลักษณ์ทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ เช่น ทำสัญลักษณ์บนต้นไม้ หรือผูกเชือกไว้ในจุดที่สามารถสังเกตได้ง่าย จะช่วยให้ไม่วนกลับมาทางเดิม และถ้าหากเกิดการหลงป่าก็จะส่งผลให้ผู้ที่มาช่วยเหลือสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 

ก่อกองไฟ 

สภาพอากาศในป่ามักจะเย็นกว่าปกติ เพราะว่ามีต้นใหญ่เป็นจำนวนมาก และมีความชื้นสูง ดังนั้น การก่อกองไฟก็เป็นวิธีการเอาตัวรอดในป่า ที่จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น และช่วยเป็นแสงสว่างในเวลากลางคืนได้ นอกจากนั้นการก่อไฟกองใหญ่ๆ ยังสามารถช่วยป้องกันสัตว์ได้อีกด้วย

ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นวิธีการเอาตัวรอดในป่าที่จะช่วยให้คนอื่นๆ สามารถตามหาผู้ที่หลงป่าได้ง่ายขึ้น โดยการส่งสัญญาณนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การเป่านกหวีด ใช้ควันไฟเป็นสัญญาณ การใช้ไฟฉาย หรือของที่สะท้อนแสง เป็นต้น

วิธีหาน้ำดื่มในป่า

วิธีเอาตัวรอดในป่าเมื่อไม่มีอาหารติดตัว 

เมื่อหลงป่า หรือหลงทางจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน อาจทำให้บางคนนั้นไม่มีอาหาร หรือน้ำดื่มติดกระเป๋า ดังนั้น  วิธีเอาตัวรอดในป่า คือ หาแหล่งน้ำดื่ม และหาแหล่งอาหาร โดยนักเดินทางสามารถหาแหล่งน้ำดื่ม และอาหารในป่าได้จากที่ต่างๆ ดังนี้

ดื่มน้ำสะอาด

น้ำ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และถ้าหากขาดน้ำเกิน 3 วัน อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น นักเดินทางที่หลงป่า และไม่มีน้ำดื่ม สามารถหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติในป่าได้ ดังนี้

น้ำจากกอไผ่

กอไผ่ สามารถคายน้ำได้มากถึง 1-2 ลิตรต่อคืน จึงเป็นแหล่งน้ำที่สามารถช่วยคลายความกระหายน้ำได้ โดยวิธีการเลือกกอไผ่นั้นจะต้องเลือกไผ่ที่เพิ่งโตเป็นปีแรก ซึ่งจะมีกิ่งไผ่ที่มีขนาดประมาณนิ้วโป้ง และให้ทำการตัดกิ่งไผ่แบบเฉียงประมาณ 45 องศา เพื่อจะได้มีพื้นที่ในการคายน้ำมากขึ้น และจะได้ปริมาณน้ำมากขึ้นตามไปด้วย หลังจากนั้นให้หาภาชนะมารองน้ำทิ้งไว้ประมาณหนึ่งคืน ก็จะได้น้ำดื่มจากธรรมชาติที่สามารถช่วยดับกระหายได้

น้ำจากเถาวัลย์

เถาวัลย์ ถือว่าเป็นอีกแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะต้องหาเถาวัลย์น้ำที่ผิวมีลักษณะนุ่มเหมือนฟองน้ำ เพราะเป็นเถาวัลย์ที่อวบน้ำ และมีน้ำเยอะ โดยทำการตัดเถาวัลย์ให้เป็นปากฉลามทั้งส่วนบน และส่วนล่าง พร้อมกับหาภาชนะรองมารองไว้ และค่อยๆ ยกเถาวัลย์ให้น้ำไหลออกมา หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ตัดไล่ลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมากขึ้น 

น้ำจากการระเหย

น้ำจากการระเหย เป็นการใช้หลักการวิทยาศาสตร์สำหรับการระเหย โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมต้นไม้ หรือขุดหลุมแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้ เมื่อดวงอาทิตย์ส่องมายังถุงพลาสติกที่คลุมไว้ก็จะทำให้เกิดไอน้ำ และจะทำให้มีน้ำสำหรับดื่ม

วิธีหาอาหารประทังชีวิต

อาหาร ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้น้ำดื่ม โดยการที่จะเอาตัวรอดในป่าได้นั้นจะต้องทานอาหาร เพื่อให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย ซึ่งในป่านั้นมีแหล่งอาหารมากมาย ดังนั้น นักเดินทางสามารถหาแหล่งอาหารตามธรรมชาติในป่าได้ ดังนี้ 

พืชผัก ผลไม้ของป่า

พืชผัก และผลไม้ เป็นสิ่งที่สามารถหาได้ในป่า และสามารถทานเพื่อประทังชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยป่า ผลไม้ป่า และผักป่าอีกหลากหลายอย่างที่สามารถนำมาทานได้ แต่สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักผักป่า หรือสามารถแยกเห็ดพิษได้ ควรหลีกเลี่ยงการทานผักป่า และเห็ดป่า เพราะว่าอาจมีพิษที่ร้ายแรง และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ 

เนื้อสัตว์ 

การหาเนื้อสัตว์ภายในป่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือนำมาตุนเป็นเสบียง จะต้องทำการวางกับดัก หรือทำอุปกรณ์สำหรับล่าสัตว์ ซึ่งสัตว์ป่านั้นค่อนข้างเคลื่อนตัวได้ไว และค่อนข้างระมัดระวังตัว ดังนั้น การล่าสัตว์ในป่าจะต้องอาศัยความชำนาญของผู้ล่าเป็นอย่างมาก

วิธีหาอาหารในป่า

สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด หากอยากรอดจากการหลงป่า

หลังจากรู้ถึงวิธีการเอาตัวรอดในป่าเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่นักเดินทางควรรู้ไว้เช่นกัน คือ สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อหลงป่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ตัวนักเดินทาง โดยสิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดมีทั้งหมด ดังนี้

ห้ามเดินทางในเวลากลางคืน

นักเดินทางไม่ควรเดินทางในเวลากลางคืน เพราะว่าช่วงกลางคืนนั้นมีความมืด ส่งผลให้ดูทิศทางได้ยาก ซึ่งอาจทำให้หลงลึกเข้าไปกว่าเดิม และที่สำคัญ คือ ในช่วงเวลากลางคืนยังเป็นช่วงที่สัตว์ป่าออกหากินอีกด้วย และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรพักผ่อน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทางในวันต่อไปจะดีกว่า 

ห้ามสร้างที่พักแรกบนทางสัตว์เดิน

นักเดินทางห้ามสร้างที่พักแรมบนทางสัตว์เดิน หรือบริเวณแหล่งอาหารของสัตว์เด็ดขาด เพราะอาจได้รับการรบกวนจากสัตว์ป่า หรืออาจทำให้เจอสัตว์ดุร้าย และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ ควรเตรียมพร้อมร่างกาย และจิตใจก่อนออกเดินทาง และที่สำคัญ คือ ก่อนออกเดินทางทุกครั้งควรเตรียมอุปกรณ์เอาชีวิตรอดในป่าให้พร้อม เช่น มีดพก เชือก ชุดปฐมพยาบาล ไฟฉาย เข็มทิศ และนกหวีด เป็นต้น นอกจากนั้นยังควรศึกษาทักษะการเอาตัวรอดในป่าที่ควรมีติดตัวไว้ เพราะถ้าหากเกิดกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดการหลงป่าขึ้นมาจะได้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติมากที่สุด